วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2553

" ไอ้เท่ง " ทากทะเลชนิดใหม่ของโลก



นักวิทยาศาสตร์ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ค้นพบทากทะเลชนิดใหม่ของโลก บริเวณร่องน้ำ ป่าชายเลนที่อ่าวปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ตั้งชื่อ “ไอ้เท่ง” ตามตัวหนังตลุงปักษ์ใต้






Dr. C.Swennen ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทำงานค้นคว้าวิจัยที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มานับสิบปี และนายสมศักดิ์ บัวทิพย์ นักวิทยาศาสตร์ จากแผนกชีววิทยา ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ค้นพบทากทะเล (slug) ชนิดใหม่ของโลก อยู่ในไฟลัม Mollusca ชั้น Gastropoda วงศ์(Family) Aitengidae ชื่อ Aiteng ater หรือ “ไอ้เท่ง” โดยพบในป่าชายเลนที่เป็นดินโคลน ซึ่งถูกปกคลุมด้วยต้นโกงกาง แสมทะเล ตาตุ่มทะเล และปรงทะเล เป็นต้น ในบริเวณที่เป็นร่องน้ำ รอยเท้ามีน้ำท่วมขัง รูปู แอ่งที่มีน้ำท่วมขัง และที่มีการทับถมของใบไม้และไม้ผุ และเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้น-น้ำลง สิ่งมีชีวิตชนิดนี้มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศป่าชายเลนเหมือนกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ




ลักษณะภายนอกของ “ไอ้เท่ง” ที่สามารถสังเกตได้คือ มีขนาดประมาณ 6-17 มิลลิเมตร ลำตัวมีสีดำ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ทั้งบนบก(โดยมีการขับเมือกหุ้มร่างกายเพื่อรักษาความชุ่มชื้น) และในน้ำ คล้ายกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั่วๆไป ซึ่งความพิเศษนี้พบได้น้อยมากกับชนิดของทากทะเลที่มีการค้นพบหรือมีการศึกษาอยู่แล้วในปัจจุบัน จากการทดสอบพบว่า อาหารที่มันกินคือ แมลงในระยะดักแด้ ขณะนี้ ได้มีการเก็บมาจากปากพนังไว้ที่แผนกชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมไป
สำหรับชื่อ Aiteng ater มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นท้องถิ่นภาคใต้ คือคำว่า Aiteng มาจากชื่อเรียกตัวหนังตะลุงของปักษ์ใต้ ชื่อ ไอ้เท่ง ซึ่งมีลักษณะตัวสีดำและมีลักษณะของตาที่คล้ายกับสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ และ คำว่า ater มาจากภาษาลาติน หมายถึง สีดำ







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น